เทคนิคการถ่ายภาพนก

 

 

 

บทความและข้อคิด มุมมองต่างๆของผมที่เขียน เป็นเรื่องที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัวครับ
ไม่ใช่บรรทัดฐานที่ทุกคนต้องยึดติดว่าถูกหรือผิด
เพราะทุกคนการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน ประสบการณ์ที่แตกต่างกัน
มุมมองก็ถูกสอนมาไม่เหมือนกัน
ดังนั้น อาจมีแนวคิดหรือเทคนิคที่ต่างจากนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีใครผิดใครถูกครับ

การถ่ายภาพนกนางนวลนั้น ถ้าจะพูดว่าเป็นการถ่ายภาพแนว Stop Action ก็ได้
เพราะเป็นการใช้สปีดชัตเตอร์สูงๆหยุดความเร็วของนกที่บินถ่ายให้ได้ภาพที่คมชัดนั่นเอง
นกนางนวล จะต่างจากการถ่ายภาพนกทั่วไป เพราะการถ่ายภาพนกนางนวลเป็นเสมือน การจับปืนกลยิงข้าศึกที่โจมตี
มาทุกทิศทุกทาง ดูแล้วตาลายไม่รู้ว่าจะมาทางไหนบ้าง ต้องเลือกและยิงให้แม่นจึงจะได้ภาพที่ดีและคมชัด

ใครเคยไปถ่ายนกนางนวล ที่บางปูมาแล้วจะรู้ได้เลยครับว่ายากมาก มันมีจำนวนมากมาย ทิ้งดิ่งแบบเครื่องบินรบ
ถ้าไม่รู้จักเทคนิคก็อาจจะได้ภาพเบลอๆกลับบ้าน เป็นร้อยภาพ 555

จึงอยากแนะนำเทคนิคการถ่ายภาพที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมใช้อยู่
หากใครสนใจอยากเอาไปลองบ้างก็ได้ครับ

                                                              

 

1.การเลือกใช้ Mode สำหรับการถ่ายภาพ

การถ่ายภาพนกนางนวล สามารถปรับตั้งกล้องได้ง่ายคือใช้โหมดการถ่ายภาพได้ทั้ง 3 แบบ คือ

Mode TV / S


ระบบนี้ Shutter speed เองว่าต้องการเท่าไร กล้องจะปรับค่ารูรับแสง หรือ F-stop ให้อัตโนมัติ
เราจะสามารถควบคุม Shutter Speed   ให้คงที่ได้คือต้องใช้สปีดที่สูงๆเพื่อหยุดความเคลื่อนไหวของนก
เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัด นกบินไม่เร็วมาก หรือนกว่ายน้ำอยู่ ใช้ได้ตั้งแต่ 1/250 วิ ขึ้นไป
ถ้านกบินเร็วมากขึ้น ก็ 1/500  บางคนใช้ประมาณ 1/800 ขึ้นไป
แต่ถ้าเพื่อให้ชัวร์ก็ใช้ 1/1000 ขึ้นไปครับ ซึ่งการใช้ความเร็วระดับบนี้หวังผลได้ทั้งที่บินช้าและบินเร็วได้เลย
(แต่ก็ขึ้นอยู่กับความนิ่งของคนถ่ายด้วยนะ )

แต่การใช้ระบบนี้ก็มีข้อเสียก็คือเราควบคุมขัดลึกไม่ได้ เพราะรูรับแสงจะปรับอัตโนมัตินั่นเอง
(ถ้าจะคุมเราต้องมาควบคุมทั้ง ISO/ Speed /F-stop ให้ได้ตามที่เราต้องการ ซึ่งยุ่งยากไปนิดครับ)

Mode  AV / A


ระบบนี้เราสมารถควบคุมความชัดของภาพได้ ตั้ง F-stop ตามต้องการ ส่วน Speed shutter จะปรับอัตโนมัติให้

ดังนั้น ถ้าใครจะระบบนี้ก็ต้องคอยสังเกตและควบคุม Speed shutter ว่าอย่าให้ต่ำกว่าช่วงซูมที่เราใช้ในขณะนั้น
แต่มีวิธีที่จะทำให้เราไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ก็คือ ขยับ ISO ขึ้นมาที่ 200 – 400 ถ่ายสภาพแสงแดดแบบบางปูนี่
รับรองว่า เกิน 1/500  หรือ 1/1000 สบายๆเลยครับ
(ยกเว้นวันนั้น ไม่มีแดด หรือ ช่วงอาทิตย์ตก แสงตอนเย็น ก็ต้องขยับ ISO เพิ่มให้ได้สปีดตามที่เราต้องการ )

หรือ อีกวิธีหนึ่งก็คือใช้ ISO Auto ซึ่งไม่ต้องกังวลเรื่องการปรับค่า ISO บ่อยๆ
แต่ผมไม่ค่อยแนะนำครับ เพราะกล้องมักจะปรับ ISOให้สูงกว่าปกติ ทำให้ได้ภาพไม่ค่อยสดใส ครับ

Mode  M


ระบบนี้เราจะต้องควบคุมทั้ง F-stop และ Speed shutter ทั้งสองอย่าง ให้ได้ค่าที่เราต้องการ
โดยการวัดแสงในจุดที่เราคาดว่าสภาพแสง น่าจะใกล้เคียงกับสถานที่ / ท้องฟ้า
หรือ นก ที่เรากลังจะถ่ายให้มากที่สุด แล้วตั้งค่านั้น ลองถ่ายดูสักชุดหนึ่งก่อน
แล้วดูว่าแสงพอดีไม๊ ถ้ามืดหรือสว่างไปก็ลองปรับใหม่ หรือชดเชยแสง
เมื่อแสงได้ตามที่เราอยากได้แล้ว ก็ลุยเลยครับ ยิงแบบไม่ต้องยั้ง

ระบบนี้มีข้อดี คือ ถ้าสภาพแสงคงที่เราก็ใช้ค่าแสงนั้นถ่ายได้ตลอดเลยครับ
แต่ ถ้าแสงเปลี่ยนเช่น มีเมฆมาบัง แดดหุบ สภาพสงเปลี่ยน
เราก็ต้องมาวัดแสงใหม่ ไม่งั้นภาพก็อาจจะมืดหรือโอเวอร์ไปครับ

บางคนใช้วิธีวัดแสงจากระบบ TV / A เพื่อหาค่าแสง แล้วนำมาตั้งค่าที่ โหมด M ก็ได้ครับ

จะเห็นว่าสามารถใช้ได้ทั้ง 3 ระบบ ขึ้นอยู่กับว่าใครถนัดแบบไหน

 

การตั้ง Function การทำงานของกล้อง

ถ่ายภาพนกที่บินเร็วๆ หรือการถ่ายภาพวัตถุเคลื่อนที่นั้น
จะต้องมาปรับระบบการทำงานของกล้องให้เหมาะสมกับการถ่ายภาพ คือ

1.ใชระบบโฟกัสปกติ คือ  ONE SHOT  หรือ  AF-S เป็นการถ่ายภาพจับจังหวะทีละภาพทีละเฟรม
ดูจังหวะที่เหมาะๆค่อยถ่าย ผมลดีคือ ไม่เปลืองชัตเตอร์ และมีโอกาสได้ภาพที่ดีและคมๆได้

แต่คนถ่ายต้องมีความชำนาญในการคาดเดาและจับจังหวะมากๆจึงจำได้ผลดี

2.ปรับไปใช้ระบบการถ่ายภาพต่อเนื่อง เพื่อจะได้ถ่ายภาพทีละหลายๆภาพ ในการถ่ายภาพแต่ละครั้ง
ด้วยการ ใช้ระบบโฟกัสแบบเคลื่อนที่   AI Servo / AF-C เพื่อจับความเคลื่อนไหวของวัตถุ
เพื่อจะได้จับโฟกัสได้ง่ายและได้ภาพมากขึ้น

                                                              

 

3.ระบบวัดแสงจะใช้แบบ Sport หรือ Center weight หรือ Multi ก็ได้นะ แล้วแต่ใครจะถนัดแบบไหน

4. ISO ควรอยู่ที่ประมาณ 100-200 ไม่ควรเกิน 400 ครับ นี่เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ เพราะช่วงกลางวันถ้ามีแดดแสงดีๆ
ใช้ ISO 100-200 ก็พอ จะได้ภาพที่ใสเคลียร์ดีกว่า ISO สูงแน่นอน ถ้าแสงน้อย ตอนอาทิตย์ตก ISO ก็ประมาณ 800

                                                             

5. F-Stop ผมมักจะควบคุมอยู่ที่ F8 หรือ F 11 เพราะมีโอกาสที่จะได้ความคมชัดดีกว่า F กว้างๆ
บางคนต้องการเปิด F กว้างๆ เพื่อให้ฉากหลังเบลอ เช่น F 1.8/ 2.8 / 4
ซึ่งการถ่ายภาพนกนางนวลไม่ต้องให้ฉากหลังเบลอครับ แต่ต้องถ่ายให้คมมากกว่า

ผลเสียก็คือ ถ้าเราเปิด F กว้างๆ ปัญหาที่ตามมาอีกอย่างคือ หลุดโฟกัสง่าย จึงไม่น่าใช้ครับ

                                                               

สิ่งที่เป็นข้อคิดสำหรับการถ่ายภาพนกนางนวลก็คือ นกไม่ได้เกาะนิ่ง แต่บินโฉบตลอดเวลา และฉากหลังจะเป็นท้องฟ้า
ดังนั้น ไม่ต้องกลัวว่าฉากหลังจะไม่สวย สิ่งที่ต้องกังวลก็คือความคมชัด น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า

6. เลนส์ที่ใช้ควรจะเป็นเลนส์  Normal Lens หรือ Tele zoom Lens    เลนส์ซูมน่าจะเหมาะสุด

สำหรับการถ่ายภาพนกนางนวล  Normal lens ก็ใช้ได้ครับ
เพราะนกมีมากมายและไม่กลัวคนเลย บินข้ามหัวเราเลยครับ ถ่ายได้สบายมาก
และ Normal lens ยังสามารถถ่ายภาพมุมกว้างเก็บภพบรรยากาศได้ดีด้วย

สำหรับเลนส์ Tele หรือเลนส์ซูมระยะไกล เหมาะสำหรับต้องการเน้นถ่ายนกเฉพาะตัวหรือให้เห็นถึงลีลาของนก
เพราะจะได้ซูมภาพนกให้ได้ชัดแจ๋ว ใหญ่สะใจเราไปเลย

 

มาดูด้าน เทคนิคการถ่ายภาพนกนางนวล กันบ้างครับว่ามียังไงบ้าง

1. เรียนรู้วิธีการถ่ายภาพนกนางนวล 

การจะถ่ายภาพนกบินให้ได้คมชัด ยากครับ ถ้าไม่รู้เทคนิดเพราะมากันเป็นฝูง ดูแล้วตาลาย
เทคนิคที่ผมใช้ง่ายๆคือ การเล็งเป้าหมายตัวใดตัวหนึ่ง
เมื่อหมายตาแล้วก็แพนกล้องติดตามให้มาใกล้ที่สุดเท่าที่เราอยากได้ แล้วยิงเลย โอกาสได้ภาพที่คมชัดมากว่าแพนตามไปเรื่อยๆครับ

2. ความคมชัดสำคัญกว่า การจัดองค์ประกอบภาพ

เพราะการที่เราถ่ายภาพฝูงบินเยอะแยะมากมายและเร็วด้วย มันก็แสนสาหัสแล้ว
ดังนั้นส่วนใหญ่ก็ได้ภาพที่ขาดๆเกินๆกันมาซะเยอะ
ความคมชัดเป็นเรื่องแรก และสำคัญกว่าการจัดองค์ประกอบภาพ แต่ถ้าได้องค์ประกอบภาพที่ลงตัวด้วยก็เยี่ยมเลยครับ

บอกตรงๆครับ ที่เห็นภาพสวยๆจัดองค์ประกอบภาพเด็ดๆนั่นนะ ส่วนมากครอปมาทั้งนั้นแหละ น้อยมากที่ลงตัวเป๊ะๆ

3. สร้างความหลากหลายในเรื่องราวของนกนางนวล
ควรจะถ่ายภาพที่แสดงถึงอาริยบทต่างๆของนกเวลาบิน เพื่อจะได้มีภาพการบินที่หลากหลาย
ซึ่จะทำให้เราเห็นถึงธรรมชาติและความสวยงามในแง่มุมต่างๆได้มากกว่า…ก็แค่ถ่ายนก

 

4. ต้องรู้จักการจับจังหวะที่เรียกว่า Shot เด็ด

 

การถ่ายภาพแนวนี้คล้ายๆกับแนว ACTION คือต้องมีภาพจังหวะเพื่อสื่ออารมณ์ให้กับภาพ
ดังนั้น คนถ่ายภาพแนวนี้ต้องรู้จักการรอคอยเพื่อจับจังหวะที่สำคัญเพื่อหาช็อตเด็ดทุกครั้งเสมอ

5.การสร้างมุมมองและสีสันหรือโทนของภาพให้มีความน่าสนใจ

การถ่ายภาพทุกประเภท เราควรจะสร้างความน่าสนใจให้กับภาพที่เราถ่าย
ในสถานที่ที่เราไปถ่ายให้แตกต่างจากคนอื่นๆให้ได้ทุกครั้ง เราจึงจะถือว่ามีมุมมองที่แตกต่าง

 

 

ภาพที่โดดเด่นไม่จำเป็นต้องไปไกล สุดฟากฟ้า แค่เอื้อมมือ ก็ถ่ายให้สวยได้ ถ้ามีมุมมองที่แตกต่าง

 

6. เล่าเรื่องราวด้วยสภาพแวดล้อม โลเคชั่นและสถานที่ ได้ง่ายๆถ้ารู้จักเล่น

บางครั้งเราไปถ่ายภาพที่ไหน ก็อย่าลืมเก็บภาพบรรยากาศเอาไว้บ้าง
เพราะว่ามันเป็นการเล่าเรื่องที่ง่ายและเก็บไว้ในความทรงจำได้ดีที่สุด

หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กันนะครับ สำหรับมือใหม่ ลองเอาไปใช้ดูนะครับ