เทคนิคการถ่ายภาพ Stop Action และ Panning Action

 

 

เคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่ใช้ shutter speed ช้าๆ ที่เรียกว่าการถ่ายภาพแนว Long exposure ไปแล้ว
ใครสนใจตามไปอ่านกันได้ที่นี่ครับ http://www.vistaimage.net/2540

คราวนี้มาเรียนรู้การถ่ายภาพการใช้ shutter speed สูงๆกันบ้างว่ามีอะไรบ้าง และ มีเทคนิคยังไง ที่จะถ่ายภาพให้แจ่มๆกัน ตามมา

ก่อนอื่นทุกคนต้องเข้าใจเรื่องของหลักการพื้นฐานของ shutter speed ก่อนนะครับ
Shutter Speed หรือ ความไวชัตเตอร์ นั้น หมายถึง ระยะเวลาที่ชัตเตอร์ของกล้องเปิดออกเพื่อรับแสงเข้ามายังเซนเซอร์ในตัวกล้อง
ระยะเวลาในการปิดปิดรับแสงเมื่อเราถ่ายภาพ คือ สปีดชัตเตอร์ นั่นเอง
จะปิดช้า ปิดเร็ว ขึ้นอยู่ที่เราว่าต้องการแบบไหน (มีหน่วยวัดเป็นวินาทีและนาที)
สำหรับกล้องรุ่นเล็กและรุ่นกลาง จะมี Shutter Speed อยู่ที่ 1 /4000 วินาที และรุ่นมืออาชีพ จะมีอยู่ที่  1 /8000 วินาที

 

 

หลักที่ต้องจำ คือ

 
1. การใช้ Shutter Speed ช้าๆหรือต่ำ (ตัวเลขน้อยๆ) ใช้สำหรับการถ่ายภาพที่ต้องการเน้นความเคลื่อนไหว (Motion blur)
คือ การถ่ายภาพด้วย Shutter Speed ที่ต่ำ เพื่อให้เราได้ภาพถ่ายที่เกิดการเคลื่อนไหวในภาพ และก็ต้องใช้งานร่วมกับขาตั้งกล้องด้วย
ใช้กับการถ่ายภาพแนว Long exposure เป็นการถ่ายภาพที่ใช้สปีดต่ำๆ เช่นน้ำตก แสงไฟวิ่ง ฯลฯ

.

 

 

2. ถ้าใช้ Shutter Speed สูงๆ(ตัวเลขเยอะๆ) เป็นการปิดม่านชัตเตอร์เร็ว เพื่อหยุดความเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่ง

ใช้สำหรับการถ่ายภาพ สิ่งเคลื่อนไหวทุกประเภท ให้หยุดนิ่งและคมชัด เช่น ถ่ายภาพนกบิน รถวิ่ง ฯลฯ

 

 

 

เรามาดูเทคนิคการถ่ายภาพที่ใช้ Shutter Speed สูงๆกันว่า มีอะไรบ้าง

Stop Action  Photography  ( การถ่ายภาพเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่ง ) 

 

การถ่ายภาพลักษณะนี้ เป็นการถ่ายที่จะต้องตั้งความเร็วชัตเตอร์ให้สูงกว่าความเร็วของวัตถุที่เคลื่อนที่
เช่น 1/250  1/500  หรือ 1/1000 วินาที บางครั้งถ้าเร็วมาๆอาจจะต้องใช้ถึง 1/4000 วินาทีก็ได้

Stop Action สามารถนำไปใช้กับการถ่ายภาพได้หลากหลายประเภท เช่น
การถ่ายภาพรถแข่ง การถ่ายภาพบุคคล การถ่ายภาพหยดน้ำ การถ่ายภาพสัตว์

 

 

 

 

การเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ ในการถ่ายภาพแต่ละครั้งแต่ละประเภท อยู่ที่

• ความเร็วของวัตถุ
• ทิศทางของวัตถุ
• ระยะทางจากกล้องไปยังวัตถุ
• ความยาวโฟกัสเลนส์
• แสงตอนถ่ายภาพ
ทุกอย่างมีผลต่อการใช้  Shutter Speed (ประสบการณ์คนถ่าย จะช่วยได้มากในการเลือกใช้)

 

การตั้งค่ากล้อง

1.การเลือกใช้ Mode สำหรับการถ่ายภาพ

สามารถปรับตั้งกล้องได้ตามความถนัด เลือกได้เลย ใช้โหมดการถ่ายภาพได้ทั้ง 3 แบบ คือ

 

 

Mode TV / S Mode  AV / A หรือ Mode  M  อยู่ที่ใครจะถนัดแนวไหน เลือกเอาตามที่ถนัด

บางคนคิดว่าถ่ายสิ่งเคลื่อนไหวต้องใช้โหมด S ซึ่งเป็นการตั้งค่าสปีดคงที่ จะได้เลือกสปีดได้ตามใจ
แต่จริงๆแล้วเราควบคุมสปีดได้ทั้งสามโหมดนะครับ แต่ต้องเข้าใจการปรับค่าภายใต้แสงที่ต่างกันให้ได้

สำหรับผมผมถนัด Mode  M เพราะได้คุมทั้งความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการและคุมชุดลึก ชัดตื้น ตามที่อยากได้
ส่วน iso ในการถ่ายภาพแนวนี้เป็นการถ่ายกลสงวัน แสงดีอยู่แล้ว ใช้น้อยอยู่แล้ว ปรับเป็น iso Auto
(แต่ถ้าสภาพแสงน้อยๆไม่แนะนำให้ใช้ iso Auto นะครับ)

 

ระบบโฟกัส
อันนี้ก็แล้วแต่ถนัดอีกเหมือนกัน เลือกได้ทั้งสองแบบ คือ

 

 

ONE SHOT  หรือ  AF-S เป็นการถ่ายโฟกัสภาพ จับจังหวะทีละภาพทีละเฟรม
ดูจังหวะที่เหมาะๆค่อยถ่าย ผลดีคือ ไม่เปลืองชัตเตอร์ และมีโอกาสได้ภาพที่ดีและคมๆได้

แต่คนถ่ายต้องมีความชำนาญในการคาดเดาและจับจังหวะมากๆจึงจะได้ผลดี (ถ้าไม่เคยฝึก อาจจะไม่ได้ภาพเลยก็ได้นะ)

AI Servo / AF-C ใช้ระบบการถ่ายภาพต่อเนื่อง เพื่อจะได้ถ่ายภาพทีละหลายๆภาพ ในการถ่ายภาพแต่ละครั้ง
ระบบโฟกัสแบบเคลื่อนที่   AI Servo / AF-C จะช่วยจับความเคลื่อนไหวของวัตถุ
ทำให้ได้ภาพและไม่เสียโอกาสในภาพนั้นๆได้มากขึ้น เหมาะสำหรับมือใหม่ หรือ ไม่อยากพลาดช็อตสำคัญ
ซึ่งปัจจุบันกล้องทันสมัยขึ้น มีระบบ Eye AF  และ Eye-Tracking ทำให้มีโอกาสได้ภาพเด็ดๆง่ายขึ้น

ISO ควรอยู่ที่ประมาณ 100-200 ไม่ควรเกิน 400  เพราะช่วงกลางวันถ้ามีแดดแสงดีๆ
ใช้ ISO 100-200 ก็พอ จะได้ภาพที่ใสเคลียร์ดีกว่า ISO สูงแน่นอน ถ้าแสงน้อย ตอนอาทิตย์ตก ISO ก็ประมาณ 800
ยกเว้นกรณีที่ต้องใช้สปีดสูงมากๆ ก็ให้ปรับตามสภาพแสงและตามความจำเป็น

F-Stop การถ่ายภาพแนวนี้ต้องมีความคมชัดสูง
ดังนั้น รูรับแสง ควรอยู่ที่ F8 หรือ F 11  เพราะมีโอกาสที่จะได้ความคมชัด
ต้องดูความเหมาะสมของสภาพแสงด้วย เพราะแสงจะสัมพันธ์กันทั้งหมด

แสงมาก Speed สูง  แสงน้อย Speed ต่ำ
รูรับแสงกว้าง Speed สูง  รูรับแสงแคบ Speed ต่ำ
iso มาก Speed สูง  iso น้อย Speed ต่ำ

 

 

Shutter Speed ที่ใช้สำหรับการถ่ายภาพแนว Stop Action
ขึ้นอยู่กับความเร็วของวัตถุหรือสิ่งที่จะถ่ายว่าเรฌวมากแค่ไหน

เอาเป็นแนวคร่าวๆไปปรับใช้กัน ตามนี้ครับ

 

 

ภาพคนเดิน กระโดด ความเร็วใช้ได้ตั้งแต่ 1/250  1/400 หรือ 1/800 วินาที ก็ได้แล้ว ขึ้นอยู่กับสภาพแสง

ถ่ายภาพนกบิน 1/800 1/2000 ขึ้นอยู่กับบินเร็วช้าแค่ไหน (ตามความเร็วของวัตถุหรือสิ่งที่ถ่าย)

ถ่ายภาพรถวิ่ง  1/2000 หรือ 1/4000 (ตามความเร็วของวัตถุหรือสิ่งที่ถ่าย)

ถ่ายภาพรถแข่ง 1/4000 หรือ 1/8000 (ตามความเร็วของวัตถุหรือสิ่งที่ถ่าย)

 

เทคนิคการถ่ายภาพ  Stop Action




เมื่อตั้งค่าพร้อมแล้ว สิ่งสำคัญต่อไปคือการหามุมที่จะถ่ายภาพ ต้องดูฉากหลังว่ารกไปมั้ย เล่าเรื่องอะไรได้มั้ย
นี่คือสิ่งสำคัญก่อนจะลงมือถ่ายภาพคือ การสำรวจพื้นที่ หรือเดินหามุมถ่ายภาพ ครับ
ภาพจะสวยรึไม่สวย นอกจากถ่ายภาพได้แล้ว ภาพนั้นไควรจะมีเรื่องราวหรือใส่เรื่องราวให้ภาพนั้นมีรายละเอียด มีคุณค่ามากขึ้นด้วยครับ

ต้องรู้จักการจับจังหวะที่เรียกว่า Shot เด็ด
การจับจังหวะเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของการถ่ายภาพ Stop Action
จังหวะดีได้แอคชั่นดี จังหวะไม่ดี ภาพแอคชั่นก็ไม่ได้ดี การถ่ายบ่อยๆจะเป็นการฝึกการจับจังหวะได้ง่ายและเร็วขึ้นครับ

 

 

คำแนะนำที่ควรทำ
บางครั้งเราตั้งค่าตวามเร็วชัตเตอร์ไว้แล้วคิดว่าเพียงพอ แต่บางทีไม่พอ
ช็อตแรกๆต้องลองซูมดูก่อนว่าได้ความคมชัดตามที่อยากได้รึยัง จะได้แก้ไขและไม่มานั่งเสียใจภาพหลังเมื่อเอามรูปลงคอมฯ

 

 

เทคนิคการถ่ายภาพ Panning Shot หรือ Pan Action

 


การถ่ายภาพสิ่งเคลื่อนไหวให้คมชัดและมีความเคลื่อนไหวที่ฉากหลัง ที่เรียกสั้นๆว่า Pan Action หรือ Panning Shot
ซึ่งจะต่างกับกับการถ่ายภาพ Stop Action หลักการจำง่ายๆคือ


Stop Action เป็นการถ่ายภาพหยุดความเคลื่อนไว ใช้ความเร็วชัตเตอร์เร็วๆ ไม่มีการแพนกล้อง ทุกอย่างหยุดนิ่ง


Pan Action เป็นการถ่ายภาพเคลื่อนไหวเหมือนกัน แต่ใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้าหรือต่ำ และมีการแพนกล้องตามวัตถุ ให้เกิดผมฉากหลังมีการเคลื่อนไหว

 

 

มาดูเทคนิคการถ่ายภาพที่สำคัญๆกัน

เวลาถ่ายภาพเมื่อโฟกัสแล้ว จะต้องแพนกล้องตามวัตถุด้วย จึงเรียนว่า Panning Shot
ดังนั้น เราต้องเล็งหาเป้าหมายก่อนเลยว่า จะถ่ายอะไร
เแล้วให้เล็งกล้องหาสิ่งที่ต้องการถ่าย เมื่อได้จังหวะที่เหมาะสมก็โฟกัสแล้วแพนกล้อง
ช่วงจังหวะที่แพนกล้องแล้วม่านชัตเตอร์ยังไม่ปิดก็จะเป็นผลทำให้เกิดฉากหลังเหมือนกำลังเคลื่อนที่เร็วๆ

 

การตั้งค่ากล้อง 

 

ใช้โหมด S หรือ TV  (ค่ารูรับแสงจะผันแปรเองตาสภาพแสงให้อัตโนมัติ)

แต่บางคนก็ใช้ Mode M เพราะสามารถควบคุมค่ารูรับแสงได้ ก็แล้วแต่ถนัดครับ ได้ภาพเหมือนกัน

ISO ใช้ได้ตั้งแต่ 100 – 200 – 400 ได้ก็จะดีครับภาพจะได้คมๆใสๆ แต่ถ้าจำเป็นจะใช้มากกว่านี้ ก็ไม่ผิดครับ

WB auto (ให้ค่าสีที่ใกล้เคียงและสะดวกเวลาต้องแก้สี )

Focus point เลือกจุดโฟกัสจุดกลาง จุดเดียว (ควบคุมโฟกัสได้แม่นยำ)

เลือกระบบโฟกัสเป็นแบบ Ai Servo  หรือ AF-C

 

 

 หัวใจสำคัญของการถ่ายภาพแนวนี้ 

1.การเลือกความเร็วชัตเตอร์ 

ถ้าความเร็วชัตเตอร์สูงไป ม่านชัตเตอร์ปิดเร็ว ผลของฉากหลังจะไม่มีผลแบบวัตถุเคลื่อนที่เร็ว
ดังนั้น จะต้องมีระยะเวลาที่กล้องจะปิดม่านชัตเตอร์พอสมควร เพราะเวลาที่มีเวลาเราแพนกล้องจะได้ทำให้ฉากหลังดูวืดๆดูแล้วมีความเร็ว
การถ่ายภาพ Pan Action ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/30 วินาที ปกติจะใช้อยู่ที่ 1/20 ไม่เกิน 1/40 วินาที ยิ่งช้าฉากหลังยิ่งสวย
(แต่ถ้าต่ำกว่า 1/30 วินาทีควรใช้ขาตั้งกล้อง)

 

 

การใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ ฉากหลังก็จะเบลอมาก แต่โอกาสการได้ภาพที่คมชัดจะน้อยลง
จึงควรเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่ไม่เร็วหรือช้าเกินไป



 

2.ใช้ระบบโฟกัสแบบต่อเนื่อง หรือ Continuous หรือ AI Servo
คุณควรเลือกใช้ระบบโฟกัสแบบต่อเนื่อง หรือ Continuous หรือ AI Servo
เพราะระบบนี้เมื่อเราโฟกัสแล้ว เวลาแพนกล้องก็จะโฟกัสตามวัตถุที่เคลื่อนไหวด้วย

 

 

3.การแพนกล้อง และ จังหวะการกดชัตเตอร์ให้พอดี 

หัวใจสำคัญคือ การแพนกล้อง เวลาถ่ายให้กลั้นหายใจนิดนึงเพื่อลดการเคลื่อนไหวของกล้อง
และจะต้องมีช่วงเวลาของการกำหนดการแพนกล้อง ให้แบ่งพื้นที่เป็น 3 step

 


ซ้ายมือ
แพนกล้อง มองเพื่อหาเป้าหมายที่จะถ่าย
ตรงกลางหรือตรงหน้า เป็นจุดที่ควรต้องโฟกัส
และด้านขวามือ เมื่อโฟกัสได้แล้วก็จะเป็นจุดการแพนกล้องให้เกิดผลของฉากหลัง
(จะกลับกันจากซ้ายมาขวา หรือขวามาซ้ายก็ได้นะครับ )

 

 

การถ่ายปัญหาอยู่ที่จุดเด่นจะหลุดกรอบหรือหลุดเฟรม ในตอนการแพนกล้อง
คำแนะนำคือ เวลาจะกดชัตเตอร์ ต้องพยายามโฟกัสให้สิ่งที่เราถ่ายอยู่ในกรอบเฟรมภาพ ปัญหานี้ก็จะหมดไป

 

 

 

หวังว่าจะเป็นแนวทางลองเอาเทคนิคและวิธีการไปใช้กันนะครับ
www.vistaimage.net
ไอดีไลน์ pojvista