Street  &  Life photography

แนวคิดและเทคนิคการถ่ายภาพวิถีชีวิต 

 

มีผู้คนบอกความหมายและคำจำกัดความ แยกแยะประเภทออกมาชัดเจน
ทั้งแนว Street photography  หรือ Life Photography  รวมทั้ง แนว Documentary Photography

มัดรวมๆแล้วทั้ง 3ประเภท ใกล้เคียงกันมากแตกต่างกันในรายละเอียดบางเรื่องเท่านั้น

มีคนเขียนไว้มามากมาย จึงไม่ขอพูดอีกในเรื่องความหมายของแต่ละประเภทนะครับ

ใครอยากรู้ไปหาอ่านกันได้ ไม่มีข้อจำกัดของการเรียนรู้ อย่าไปซีเลียต อย่าดราม่า
ถ่ายภาพให้มีความสุขดีกว่าครับ 

เรื่องราวที่จะได้อ่านกัน ต่อจากนี้

จะเป็นเรื่องของแนวคิดและเทคนิคในการถ่ายภาพวิถีชีวิต (Street & Life ) ในภาพรวม 

ไม่ได้แยกประเภท ดังนั้นภาพประกอบก็จะผสมกันไปตามเนื้อหา นะครับ

การถ่ายภาพวิถีชีวิต เป็นการถ่ายภาพแนวสะท้อนมุมมองความคิด เรื่องราว สิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา
เน้นเรื่องความเป็นจริงของสภาพที่เป็นไปในสังคม ไม่มีการจัดฉาก จะอยู่บนท้องถนน ในที่ใดก็ตาม มันก็คือภาพชีวิตจริง ไม่ได้จำกัดสถานที่ 

การถ่ายภาพแนวนี้ ต้องใช้สัญชาตญาณ และ ความรวดเร็วในการบันทึกเหตุการณ์ ตามสภาพที่เป็นจริงอยู่เบื้องหน้า
ดังนั้น จังหวะ และ รายละเอียดภาพ จึงเป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่ง

ผมเป็นคนชอบถ่ายภาพแนวนี้ เพราะมันมีเสน่ห์ ได้เจอเรื่องราวต่างๆที่ไม่เคยเจอ ได้เรียนรู้ชีวิตผู้คนทุกชนชั้น
ฝึกการแก้ปัญหา ฝึกการหามุมมอง มาจากการถ่ายภาพแนวนี้ทั้งนั้น 

เสน่ห์ของ Street & life คือ เจอปั๊บ ถ่ายปุ๊บ (Snap Shot)
แป้บเดียว Subject ไปแล้ว ไม่ค่อยมีใครซ้ำมุม หรือ ก็อปมุมเราได้
( ยกเว้น ไปเป็นกลุ่มก็อาจจะได้เหมือนกันได้ แต่อารมณ์ภาพและจังหวะอาจไม่เหมือนกัน เพราะประสบการณ์ที่ต่างกัน ) 

ภาพแนวนี้จะสนุกในการเล่าเรื่อง ฝึกคิด ฝึกวางแผนการถ่ายภาพ 
การถ่ายการควบคุมกล้องต้องเร็ว(Camera function) โฟกัสแม่นยำ วางองค์ประกอบภาพเร็ว (คิดนาน ไม่ทัน) เพราะจุดเด่นควบคุมไม่ได้ 

ต้องคิดเร็ว ถ่ายเร็ว  (เรียนรู้การจับจังหวะให้แม่นๆ)  ทำบ่อยๆรับรองครับ เก่งได้ เอาไปใช้ได้ทุกแนว

เอาประสบการณ์ที่ผมใช้ มาเล่าให้น้องๆสมาชิก vistaimage family ได้เรียนรู้

เพื่อพัฒนาการถ่ายภาพกัน  เผื่อใครชื่นชอบแนวนี้ ลองเอาไปปรับใช้ดูนะครับ

  

สิ่งที่เราต้องมีอันดับแรกคือ กล้องถ่ายภาพ  

ความจริงเราใช้กล้องได้ทุกประเภทนะครับ ไม่จำกัดว่ากล้องโปร คอมแพค ที่โฟกัสเร็วๆสักตัวก็ใช้ได้แล้ว 

เดี๋ยวนี้มือถือพัฒนาไปไกล ถ้าเรียนรู้เทคนิค การวางองค์ประกอบภาพ ให้เข้าใจบางคนใช้มือถือถ่ายภาพออกมาสวยๆได้เลย

เรื่องต่อมาเป็น อุปกรณ์สำคัญคือ เลนส์ ก็ควรมีความพร้อมสำหรับการถ่ายภาพแนวนี้เช่นกัน

ช่วงที่เหมาะสุดคือ ช่วงนอร์มอล (Normal lens )ครับ
ขอดีของเลนส์ Normal คือเป็นเลนส์ช่วงกลางๆ การถ่ายภาพบางครั้งเราก็อยากได้ภาพที่มีฉากหลังพอประมาณ เพื่อจะได้เล่าเรื่องราวด้วยฉากหลังได้

และ ถ้าเป็นนอร์มอลที่ดีๆมีค่ารูรับแสงที่กว้างๆได้จะดีมากๆเพราะจะทำให้เราถ่ายในสภาพแสงน้อยๆได้ดี ละลายฉากหลังที่รกๆได้ดีด้วย 

เลนส์ฟิกซ์ ช่วง  50 ใช้ได้ถึงช่วง 85  mm น่าจะเป็นเลนส์ที่เหมาะสุดสำหรับแนวนี้
ถ้าเป็นกล้องฟูลแฟรม บางคนอาจชอบช่วง 35 mm   ถ่ายคนเต็มตัวและเก็บฉากหลังเอาไว้เล่าเรื่องกำลังดี

ถ้าเป็นกล้องตัวคูณ ก็จะได้ช่วงประมาณ 35 mm คูณแล้วน่าจะได้ประมาณ 45-50 mm
ซึ่งเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพบุคคล
สัดส่วนของคนจะไม่ผิดเพี้ยน

ถ่ายครึ่งตัวได้ฉากหลังเบลอ เน้นจุดเด่นได้ดี

บางคนก็ชอบใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ( Tele photo lens ) สำหรับมือใหม่ๆจะไม่กล้าไปเดินถ่ายใกล้ๆ ขอแบบซูมๆเอา

เลนส์เทเลก็น่าจะเหมาะ และ ประโยชน์ของเลนส์เทเล คือเอาไว้สำหรับถ่ายโคลสอัพ เน้นอารมณ์ภาพ ทั้งสีหน้า แววตา 

อันนี้แล้วแต่ชอบ แล้วแต่สะดวก แล้วแต่งบของแต่ละคนครับ

ภาพถ่ายแนวนี้ เราไม่จำเป็นต้องไปหาสถานที่สวย ๆ สถานที่ดี ๆ
เพื่อทำการถ่ายภาพ
สถานที่ที่เหมาะกับการถ่ายภาพแนวนี้ก็คือ ตามถนนในเมืองใหญ่ ซึ่งมีผู้คนที่มีความหลากหลาย

มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

 

หรือ ไปตามชนบท ก็ตามหมู่บ้าน จะมีผู้เฒ่า ผู้แก่ ให้เราได้เก็บรายละเอียดของประสบการณ์(อายุมาก) กันได้เช่นกัน 

การถ่ายภาพแบบนี้มีเสน่ห์ที่การมองหามุมมอง และการเล่าเรื่องด้วยภาพ
การที่ไม่มีข้อจำกัดมากนักในการถ่ายภาพแนวนี้
คนถ่ายภาพแนวนี้จึงมีความอิสระในการสร้างสรรค์ภาพได้มากมาย 
อยู่ที่เราจะสามารถสร้างสรรค์ มุมมองและเรื่องราวให้คนดูร้อง ว้าววว ได้หรือไม่ 

แนวคิดและเทคนิคการถ่ายภาพ Street & Life Photography

1. การถ่ายภาพแนวนี้ เป็นแนวภาพที่หาถ่ายง่าย แต่ถ่ายออกมาได้ดีนั้นยาก
เพราะเรื่องการจับจังหวะและสร้างสรรค์เรื่องราวผ่านมุมมองของคนถ่ายภาพ
มักมีข้อจำกัดเสมอ อาจเกิดจากช่วงเลนส์ พื้นที่จำกัด มุมมองและประสบการณ์เป็นเรื่องสำคัญในการถ่ายภาพแนวนี้มากๆ

2. Street & Life เป็นแนวภาพที่เหมาะกับการฝึกฝนเรื่องการสร้างมิติการมุมมองในการถ่ายภาพ

การถ่ายภาพแนวนี้มีเรื่องมุมมองให้ได้เรียนรู้มากมาย สถานที่หลากหลาน

การใช้ ฉากหน้า ฉากหลัง จุดเด่นหลัก จุดเด่นรอง การสร้างเรื่องราวเป็นสิ่งสำคัญสำหรับภาพแนวนี้เสมอ
เพราะต้องสื่อเรื่องราวให้คนดูรับรู้ ภาพจึงจะมีคุณค่าและน่าสนใจ

3. การถ่ายภาพแนวนี้ อาจไม่จำเป็นต้องมีคนในภาพก็ได้
บางจังหวะใช้ความเป็นนามธรรม (abstract) กับสิ่งของไม่มีชีวิต หรือ สัตว์ ก็สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้

เพราะความเป็นนามธรรมที่บางครั้งก็บ่งบอกบางสิ่ง ให้คนดูสามารถสัมผัสและรับรู้ได้เช่นกัน

4. ภาพ Street & Life ที่ดี
ไม่จำเป็นต้องเขียนอะไรก็สามารถสื่อความหมายได้ลึกซึ้ง
เพราะภาพเหล่านั้นนำเสนอด้วยตัวของภาพเองได้

ถ้าคนถ่ายภาพมีความสามารถในการนำเสนอ นำสิ่งที่พบเห็นมาเล่าเรื่อง ถ่ายทอดออกมาในรูปของภาพถ่าย

การสะท้อนแนวคิดออกมา ไม่ว่าจะรูปแบบใด ทุกอย่างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง นั่นคือ การสื่อความหมายที่ดี 

5. ภาพแนวนี้ ไม่จำเป็นที่ภาพที่จะสื่อออกมาให้โลกดูรันทด หดหู่ หรือไม่ใช่ต้องสวยสดงดงามด้านเดียวเสมอไป และก็ไม่ใช่ภาพที่สื่อความรุนแรง
เพราะบางคนเข้าใจว่า การจะสื่ออารมณ์ให้คนดูอิน ต้องถ่ายทอดสิ่งที่หนักๆแรงๆ ซึ่งในความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าไม่จำเป็น

เพราะภาพถ่ายเป็นศิลปความงดงามและการถ่ายทอดเรื่องราวในสังคมก็จริง แต่ต้องสร้างสรรค์สังคมให้เกิดสิ่งที่จรรโลงไปในทิศทางที่ดีต่อสังคมด้วยครับ

6. การถ่ายภาพ Street & Life ต้องมีความคล่องตัว
และความกลมกลืนไปกับผู้คน สภาพแวดล้อม หลีกเลี่ยงความโดดเด่น

การพูดคุยสร้างมิตรภาพเป็นสิ่งสำคัญ การนอบน้อม ถ่อมตน คือคุณสมบัติที่ดี
เพื่อความปลอดภัยของตัวนักถ่ายภาพเอง และ ความหวาดระแวงของผู้ที่ถูกถ่าย

7. เทคนิคการถ่ายภาพแนว Candid หมายถึง เป็นการถ่ายที่ตัวแบบไม่รู้ตัว

การถ่ายภาพแคนดิด มีข้อดีคือ เราจะได้ความเป็นธรรมชาติและไม่ต้องไปรบกวนตัวแบบ ได้อารมณ์ที่เรียล  (Reality ) จริงๆ

แต่ก็ไม่จำเป็นต้อง Candid เสมอไป เนื่องจากการถ่าย Street & Life เราสามารถขออนุญาตตัวแบบ ก่อนจะถ่ายภาพเขาได้

(ใครอยากรู้เทคนิคการถ่ายภาพ Candid อ่านได้ที่นี่ครับ http://www.vistaimage.net/ความรู้และเทคนิคการถ่ายภาพแคนดิด-candid-photography/

บางสถานการณ์ ของการถ่ายภาพแคนดิด เราไม่อาจเข้าใกล้ตัวแบบได้  ต้องใช้เลนส์ซูมระยะไกล เพื่อหวังผลโดยไม่ต้องเข้าใกล้ 
ดังนั้น เลนส์เทเลก็จะเข้ามาบทบาทในการถ่ายภาพทันที ใครชอบแนวนี้ มีไว้สักตัวก็ดีนะครับ

 

8. แสง และ ทิศทางของแสงเป็นสิ่งสำคัญ
ควรจะเรียนรู้เรื่องแสง จะทำให้ภาพดูมีน้ำหนักเน้นอารมณ์ภาพได้ดี 

ภาพแนวนี้ต้องใช้แสงมาเสริมให้ภาพมีมิติ มีแสงเงาเป็นตัวสื่ออารมณ์
เป็นตัวเสริมเรื่องราวให้ชัดเจนขึ้น ส่วนใหญ่จะใช้ได้ทั้งแสงนุ่มและแสงแข็ง แต่แสงแข็งจะช่วยเพิ่มไฮไลท์และชาโดว์ได้ดีกว่า 

เน้นสร้างอารมณ์หนักๆหรืออยากให้ภาพดูดาร์กก็น่าจะเหมาะ แต่ก็ไม่จำเป็นนะครับ

ถ้าเป็นสตรีทสมัยใหม่ (New Street Photography)
ไม่เน้นเรื่องของแสงเงา
แต่จะเน้นการถ่ายภาพที่มีมูฟเม้นท์ (Movement) หรือ มีบางคนชอบถ่ายภาพให้เรื่องราวสลับซับซ้อนมากขึ้น 

9. อารมณ์ของภาพ สะท้อนมุมมอง
ภาพ วิถีชีวิตที่ดีจะสื่อให้เห็นอารมณ์ของภาพได้ชัดเจน
จะทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วมไปกับภาพที่นำเสนอ  ดีใจ สนุกสนาน สุข เศร้า เหงา
การแสดงออกทางสีหน้า แววตา สร้างอารมณ์ภาพได้ดี
จะทำให้ภาพนั้นมีความน่าสนใจมากขึ้น

10. การผสมผสาน Sreet & life กับ แนวภาพ  Minimalist 

การถ่ายภาพแนวสตรีทและไลฟ์ หลายๆคนคิดว่าต้องถ่ายให้เป็นภาพขาวดำ หรือให้ดูเข้มขรึมเท่านั้น จริงๆแล้วไม่มีข้อจำกัดนะครับ
ภาพโทนสีก็ได้อารมณ์หนึ่ง ลองเปลี่ยนสีดูก็จะได้ภาพอีกอารมณ์หนึ่ง แล้วแต่จะเลือก ไม่มีถูก หรือ ผิด

แต่ก็มักจะมีคนเอาแนวสตรีท มาใช้กับแนวภาพที่เรียกว่า Minimalist เป็นแนวภาพที่มีจุดเด่นเล็กๆมีพื้นที่ในภาพกว้างๆ
ที่มักเรียกกันว่า เล็กๆแต่มีพลัง หรือ
น้อยแต่มาก หมายถึง แม้ในภาพจะมีรายละเอียดน้อย แต่บอกเล่าเรื่องราวได้มากมาย เกินจินตนาการ

เป็นการผสมผสานกันของแนวภาพที่น่าสนใจอีกรูปแบบหนึ่ง

ถ่ายในรูปแบบชีวิตเรียบง่าย ต่อการใช้ชีวิตในรูปแบบต่างๆ
ก็เป็นแนวที่น่าสนใจ และต่างจากที่เคยๆถ่ายๆกัน 

 

 

แล้วแต่ใครจะสรรค์สร้างหรือ จินตนาการออกมา ก็สามารถทำได้ แต่อย่างน้อยก็ต้องเอาให้ชัดว่าจะเป็นแนวไหนกันแน่

 

ขอให้มีความสุขในการถ่ายภาพครับ
www.vistaimage.net